top of page

เทคนิคการทำโดนัท

OTTO KITCHEN CLUB นำเทคนิคเคล็ดลับเกี่ยวกับการทำอาหารและเบเกอรี่มาฝากกันอีกเช่นเคยค่ะ

เทคนิคเคล็ดลับในสัปดาห์นี้ยังคงต่อเนื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับโดนัทกันเช่นเคยจ้า ซึ่งคราวที่แล้วเราได้พูดถึงประวัติความเป็นมาและประเภทของโดนัทกันไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงเทคนิคต่างๆในแต่ละขั้นตอนการทำโดนัทกันค่ะ

เทคนิคการทำโดนัท

1. การนวดโดนัทยีสต์ ควรนวดจนก้อนแป้งเนียนไม่ติดอ่างผสม ถ้านวดน้อยเกินไปจะทำให้ผิวไม่เรียบ ทอดแล้วอมน้ำมัน

2. การตัดแป้งโดนัทยีสต์ สามารถทำได้โดยการคลึงแป้งโดนัทเป็นแผ่นใหญ่ แล้วใช้พิมพ์ตัดกดแป้ง ให้เป็นวงกลมและ พิมพ์กดตรงกลางให้เป็นรู แต่วิธีนี้จะทำให้เหลือเศษแป้งมากกว่าใช้มือเจาะรูโดนัท ซึ่งวิธีทำคือแบ่งก้อนแป้งตามน้ำหนัก คลึงให้เป็นก้อนกลมแล้วใช้นิ้วเจาะรูลงไปตรงกลางให้เป็นรูแล้วหมุนนิ้วเพื่อให้เป็นรูเจาะกว้างขึ้น วิธีนี้จะไม่มีเศษของโดนัทเหลือเหมือนกับใช้พิมพ์กด ทำให้ขนมที่มีขนาดเท่ากัน และมีความนุ่มเท่ากันทุกก้อนอีกด้วย

3. ก่อนเจาะรูโดนัท หรือก่อนคลึงเป็นเส้นยาว ควรพักแป้งให้คลายตัวก่อน ประมาณ 10 นาที ถ้าพักแป้งน้อยเกินจะทำให้เวลาเจาะรูแป้งจะขาด หรือทำให้ผิวของโดนัทฉีกขาด เมื่อนำไปทอดผิวหน้าของโดนัทจะไม่เรียบ

4. หลังจากทำรูปร่างของโดนัทเรียบร้อยแล้ว ควรพักแป้งไว้อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้แป้งขึ้น ระยะเวลาพักขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในเวลานั้น ถ้าอากาศเย็นอาจต้องใช้เวลาพักนานขึ้น โดนัทที่ขึ้นน้อยเกินไป เมื่อนำไปทอดเนื้อจะแน่นและแข็ง แต่ถ้าแป้งขึ้นมากเกินไปเมื่อทอดเสร็จแล้วแป้งจะยุบและเหี่ยว เนื้อแป้งเป็นโพรงอากาศใหญ่และหยาบ

5 ถ้าต้องการให้โดนัทไม่อมน้ำมัน ควรใช้เนยขาว(สำหรับทอด) แทนน้ำมันพืช เนื่องจากเนยขาวมีคุณสมบัติคงความร้อนได้นานอย่างสม่ำเสมอมากกว่าน้ำมันพืช ระหว่างทอดโดนัทจึงไม่อมน้ำมัน และเนยขาวที่ใช้ทอดเมื่อเย็นลงจะแข็งตัวป็นแผ่นฟิล์มบางๆเคลือบผิวโดนัทไว้ เมื่อโดนัทเย็นลงผิวจึงไม่แฉะ ไม่มีน้ำมันเยิ้ม

6. น้ำมันที่ใช้ทอดโดนัทต้องร้อนจัดแต่ไฟอ่อน โดยเฉพาะโดนัทเค้ก ถ้าทอดในน้ำมันไม่ร้อน ขนมจะดูดซึมน้ำมันเข้าไปในแป้งมากทำให้โดนัทอมน้ำมัน ในขณะเดียวกันถ้าไฟแรงเกินไปผิวหน้าของขนมจะไหม้ก่อนโดนัทจะสุกทั่วและอาจทำให้โดนัทแตกตอนทอดได้

7. ระหว่างทอดโดนัทควรกลับโดนัทเพียงครั้งเดียว ไม่ควรกลับโดนัทไปมาหลายรอบ จะทำให้อมน้ำมันและทำให้โดนัทมีชิ้นเล็กได้

8. โดนัทยีสต์เมื่อทอดสุกแล้วเกิดการเหี่ยว อาจเป็นเพราะ ส่วนผสมแป้งเหลวเกินไป ทำให้โครงสร้างของแป้งไม่อยู่ตัว หรือใส่ยีสต์มากเกินไปทำให้โดนัทขึ้นเร็ว หรืออุณหภูมิของน้ำมันสูงเกินไป ขนมอาจเหี่ยวได้เนื้องจากยังไม่สุกดี

9. โดนัทที่ทอดสุกแล้วจะนำมาคลุกน้ำตาล ควรทำขณะยังร้อน ถ้าโดนัทเย็นจะคลุกน้ำตาลไม่ติด ตรงข้ามกับโดนัทที่จะนำมาเคลือบหน้าด้วยไอซิ่ง ควรพักให้เย็นเสียก่อน เพราะโดนัทซึ่งทอดเสร็จใหม่ๆยังคงความร้อนอยู่ ทำให้น้ำตาลไอซิ่งละลาย

10. โดนัทที่จะคลุกเกล็ดขนมปัง แนะนำให้ชุบน้ำแทนชุบไข่ เพราะถ้าชุบไข่ น้ำมันจะเป็นฟองระหว่างทอด ทำให้น้ำมันเก่าเร็ว

11. โดนัทยีสต์ที่ทำเสร็จแล้ว ไม่นิยมเก็บไว้ข้ามคืนเพราะแป้งจะแข็งทำให้คุณภาพของขนมลดลง ส่วนโดนัทเค้กหลังจากทำเสร็จแล้วสามารถเก็บได้ประมาณ 2 – 3 วัน ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บ

หวังว่าเทคนิคเคล็ดลับในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆได้ไม่มากก็น้อยนะคะ และสำหรับคราวหน้าเราจะนำวิธีทำแป้งพายแต่ละชนิดมาฝากกันค่ะ อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ หากชื่นชอบสาระน่ารู้ที่แอดมินนำมาฝากกันในวันนี้อย่าลืมกดไลค์และกดแชร์เพื่อแบ่งปันความรู้แก่เพื่อนๆที่สนใจในการทำเบเกอรี่เหมือนกันด้วยนะคะ และเพื่อเป็นกำลังใจให้แอดมินหาสาระน่ารู้ดีๆมาฝากกันอีกในคราวต่อไปนะคะ ^__^

................................................... 📌ติดตามข่าวสาร สาระน่ารู้ เกี่ยวกับอาหาารและเบเกอรี่ และสูตรอาหาร เบเกอรี่ต่างๆมากมาย ได้ที่ 🍰www.facebook.com/ottothailandclub 🍰www.ottokitchenclub.com 🍰Line ID : @ottokitchenclub

Recent Posts
Search By Tags
Archive
Follow Us
  • Facebook Basic Square
bottom of page